ผู้ว่าฯหนองบัวลำภู สั่งเบรกใช้สารเคมีเขตอุทยานภูเก้า-ภูพานคำ พร้อมส่งเสริมแนวทางการเพาะปลูกพืชทางเลือกในทุกพื้นที่ 58 ตำบล
วันนี้ (21 ส.ค.2561) นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่นำเสนอผลงานวิจัยด้วยว่า มีงานเร่งด่วนหลายจุดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน อ.โนนสัง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำพอง ที่มีการปลูกอ้อยจำนวนมากและเป็นแหล่งที่ทำให้สารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปาอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะพื้นที่ศึกษาในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับว่า ห้ามนำสารเคมีอันตรายเข้าไปในพื้นที่ จึงต้องมีการบังคับใช้ระเบียบกับเกษตรกรอย่างเคร่งครัด ภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ จะต้องการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การพัฒนาทีม ก. ระดับอำเภอ - ทีม ข. ระดับตำบล และเกษตรกรในทุกพื้นที่ 58 ตำบล รวมถึงส่งเสริมการเพาะปลูกพืชทางเลือก จำนวน 30,000 ไร่ จาก 300 กลุ่ม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดหนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากทุนวิจัยของ สกว. การลด ละ เลิก และการหาสารทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายธนากร กล่าวว่า ที่ประชุมยังนำเสนอความคืบหน้าและพิจารณาแผนปฏิบัติการ 4 ปี มาตรการเร่งด่วนสำรวจพื้นที่เสี่ยงในชุมชน สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาระบบประปา โดยนำงานวิจัยไบโอเซรามิกเพื่อลดสารเคมีในแหล่งน้ำอย่างเต็มรูปแบบในช่วง ก.ย.นี้ และเดินหน้างานวิจัยเชิงลึกในปี 2562 การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพรวมทั้งการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม น้ำใต้ดิน และรณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกใช้สารเคมี เบื้องต้นได้เสนองบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) กว่า 200 ล้านบาท
ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบการตกค้างสารเคมีปนเปื้อนในพื้นที่แปลงนาข้าว ไร่อ้อย และแหล่งน้ำในระดับเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะพื้นที่โนนสังที่กลายเป็นแหล่งรับน้ำจากอำเภอตอนบนของหนองบัวลำภู เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามฤดูกาล ปลูกอ้อยในแปลงนาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และพืชแต่ละชนิดใช้สารเคมีต่างกัน
วิเคราะห์ : ควรมีการลดปริมาณการใช้สารเคมีในอุทยานให้น้อยลง