Saturday, September 15, 2018

สารเคมีรั่วไหลจากเรือในแคลิฟอร์เนีย

เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลจากเรือลำหนึ่งที่จอดเทียบท่าในเขตลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ

เหตุสารเคมีรั่วไหลในครั้งนี้ เกิดขึ้นช่วงเช้าวันอาทิตย์ ตามเวลาในท้องถิ่น ที่ท่าเรือในเขตลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ โดยสารเคมีที่รั่วไหลออกมานี้ พบว่า เป็นสารโพรพิว อะซีเตท (Propyl acetate) ซึ่งเป็นสารละลายเข้มข้นที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหากได้รับสารเข้าไปในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองที่ตา ผิวหนัง หรือส่งผลต่อปอด โดยสารเคมีที่รั่วไหลออกมา มีจำนวนมากถึง 6,000 แกลลอน เบื้องต้นมีรายงานลูกเรือได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน และมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่เข้ามาช่วยเหลือได้รับบาดเจ็บอีก 1 นาย เนื่องจากหกล้ม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รักษาการณ์ท่าเรือ ได้ปิดล้อมพื้นที่รอบเรือในรัศมีเกือบ 3 เมตรเพื่อความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ เข้าไปประเมินความเสียหายและทำความสะอาดสารเคมีดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่สามารถกำหนดเวลาในการกำจัดสารเคมีทั้งหมดได้
วิเคราะห์ : ควรมีารระมัดระวังการรั่วไหลของสารเคมีและเก็บสารเคมีในที่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Saturday, September 8, 2018

ผู้ว่าฯหนองบัวลำภู เบรกใช้สารเคมีเขตอุทยานภูเก้า-ภูพานคำ

ผู้ว่าฯหนองบัวลำภู สั่งเบรกใช้สารเคมีเขตอุทยานภูเก้า-ภูพานคำ พร้อมส่งเสริมแนวทางการเพาะปลูกพืชทางเลือกในทุกพื้นที่ 58 ตำบล
วันนี้ (21 ส.ค.2561) นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่นำเสนอผลงานวิจัยด้วยว่า มีงานเร่งด่วนหลายจุดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน อ.โนนสัง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำพอง ที่มีการปลูกอ้อยจำนวนมากและเป็นแหล่งที่ทำให้สารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปาอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะพื้นที่ศึกษาในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับว่า ห้ามนำสารเคมีอันตรายเข้าไปในพื้นที่ จึงต้องมีการบังคับใช้ระเบียบกับเกษตรกรอย่างเคร่งครัด ภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ จะต้องการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การพัฒนาทีม ก. ระดับอำเภอ - ทีม ข. ระดับตำบล และเกษตรกรในทุกพื้นที่ 58 ตำบล รวมถึงส่งเสริมการเพาะปลูกพืชทางเลือก จำนวน 30,000 ไร่ จาก 300 กลุ่ม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดหนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากทุนวิจัยของ สกว. การลด ละ เลิก และการหาสารทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายธนากร กล่าวว่า ที่ประชุมยังนำเสนอความคืบหน้าและพิจารณาแผนปฏิบัติการ 4 ปี มาตรการเร่งด่วนสำรวจพื้นที่เสี่ยงในชุมชน สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาระบบประปา โดยนำงานวิจัยไบโอเซรามิกเพื่อลดสารเคมีในแหล่งน้ำอย่างเต็มรูปแบบในช่วง ก.ย.นี้ และเดินหน้างานวิจัยเชิงลึกในปี 2562 การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพรวมทั้งการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม น้ำใต้ดิน และรณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกใช้สารเคมี เบื้องต้นได้เสนองบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) กว่า 200 ล้านบาท
ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบการตกค้างสารเคมีปนเปื้อนในพื้นที่แปลงนาข้าว ไร่อ้อย และแหล่งน้ำในระดับเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะพื้นที่โนนสังที่กลายเป็นแหล่งรับน้ำจากอำเภอตอนบนของหนองบัวลำภู เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามฤดูกาล ปลูกอ้อยในแปลงนาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และพืชแต่ละชนิดใช้สารเคมีต่างกัน
วิเคราะห์ : ควรมีการลดปริมาณการใช้สารเคมีในอุทยานให้น้อยลง

Saturday, September 1, 2018

นักวิจัยคิดค้น "ไบโอเซรามิก" กำจัดสารเคมี เตรียมจดสิทธิบัตร

นักวิจัย สกว.ลงพื้นที่บ้านท่าลาด อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู นำนวัตกรรมไบโอเซรามิกช่วยกำจัด”พาราควอต”และสารเคมีการเกษตรในน้ำประปา อยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตร
วันนี้ (21 ส.ค.2561) รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีแก้วิจัยการพัฒนาไบโอเซรามิกกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวม 3 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอจดสิทธิบัตร ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในกระบวนการทั้งหมดได้
การลงพื้นที่สาธิตนวัตกรรมทั้ง 3 ชนิด ได้มีการเก็บตัวอย่างระบบประปาชุมชนของกรมอนามัยที่ใช้ในพื้นที่บ้านท่าลาด อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นระบบประปาที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะคลองหนีบ ป้อนเข้าระบบสำหรับใช้ในชุมชนแห่งนี้ประมาณ 270 ครัวเรือน การทดสอบครั้งนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำจากระบบประปาหมู่บ้าน น้ำสะอาดจากขวด และทดลองโดยการเทียบน้ำสะอาด แต่ถูกเติมสารพาราควอตที่มีค่าความเข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อลิต และ 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนอีกหลอดเป็นน้ำจากระบบประปาชุมชน จากนั้นนำระบบไบโอเซรามิกมาที่วิจัยและพัฒนา พบว่าสามารถดูดจับสารพาราควอต ที่มีค่าความเข้มข้นได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมจดสิทธิบัตรในอนาคต
วิเคราะห์ : ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ในประเทศไทยจะได้มีผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก

Sunday, August 26, 2018

ชาวบ้านร้อง กลิ่นสารเคมีลอยทั่วหมู่บ้าน จนท.พบขยะพิษกว่า 1,000 ตัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมืองราชบุรี พร้อมกับ พ.ต.อ.อภิชาต พุทธบุญ ผู้กำกับการ สภ.เมืองราชบุรี และ นายจำนง จันทรวงศ์ ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี เข้าตรวจสอบบริษัท มิราเคิล เลเธอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 159 หมู่ 9 ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า โรงงานของบริษัทดังกล่าว ได้มีกลิ่นโชยออกมาจากโรงงานเหม็นไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวมาทำงานอยู่ด้วย จากการตรวจสอบพบว่าภายในโรงงานมีเครื่องจักรกล มีสายพานลำเลียงขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิล ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พลาสติก และแผงไฟ ที่มีการคัดแยกแล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างการเตรียมคัดแยกที่กองไว้และที่บรรจุในถุงรวมแล้วมากกว่าหนึ่งพันตัน โดยบางส่วนถูกนำมาบดอัด และทำเป็นเม็ดพลาสติก
วิเคราะห์ : ควรมีการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมให้ถี่ถ่วนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องกลิ่นสารเคมี

Sunday, August 19, 2018

นาซาพบสัญญาณชี้ “กำแพงไฮโดรเจน” กั้นขอบเขตระบบสุริยะมีจริง

ยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ขององค์การนาซา ซึ่งขณะนี้อยู่ในบริเวณแถบไคเปอร์ (Kuiper belt) ที่เต็มไปด้วยดาวเคราะห์น้อยตรงรอบนอกของระบบสุริยะ แจ้งว่าพบสัญญาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่ชี้ว่า "กำแพงไฮโดรเจน" ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ในอวกาศที่นักดาราศาสตร์ค้นหามานานน่าจะมีอยู่จริง
อุปกรณ์วัดรังสียูวี Alice UV spectrometer ที่ติดตั้งบนยานนิวฮอไรซันส์ ตรวจพบการส่องสว่างเป็นพิเศษของรังสีดังกล่าวใกล้แถบไคเปอร์ ซึ่งอาจเกิดจากการที่อนุภาคของแสงอาทิตย์หรือโฟตอนชนเข้ากับอะตอมของไฮโดรเจนปริมาณมหาศาล ที่สะสมตัวหนาแน่นจนเกิดเป็นเหมือนแนวกำแพงขึ้น
นักดาราศาสตร์คาดว่ากำแพงไฮโดรเจนนี้กั้นอยู่ตรงแนวที่เรียกว่าเฮลิโอพอส (Heliopause) อันถือว่าเป็นแนวสิ้นสุดขอบเขตของระบบสุริยะ ซึ่งเลยจากนั้นไปจะเป็นห้วงอวกาศด้านนอกที่ติดต่อกับกลุ่มดาวอื่น ๆ
วิเคราะห์ : จากข้อมูลที่ที่ยานนิวฮอไรซันส์แจ้งว่าพบสัญญาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่ชี้ว่า กำแพงไฮโดรเจนน่าจะมีจริง ถือได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งใหม่ของโลก

ชี้บุหรี่ไฟฟ้าทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน

งานวิจัยล่าสุดจากอังกฤษพบหลักฐานบ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของร่างกาย และอาจมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน
งานวิจัยที่นำโดย ศ.เดวิด ธิคเก็ตต์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax พบว่า ละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าไปหยุดยั้งการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญในปอดและกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบ
ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบกระบวนการเชิงกลเพื่อเลียนแบบการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยทำขึ้นในห้องทดลอง และใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดที่ได้รับบริจาคจากคนที่ไม่สูบบุหรี่
ผลการศึกษาพบว่า ละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดอาการอักเสบ และไปยับยั้งการทำงานของ "อัลวีโอลาร์ มาโครเฟจ" (alveolar macrophage) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตราย เช่น อนุภาคฝุ่น เชื้อแบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
ทีมนักวิจัยระบุว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคล้ายกับที่มักพบในกลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ชี้ว่าผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงสภาพที่เกิดขึ้นในห้องทดลอง ซึ่งกินเวลาเพียง 48 ชั่วโมง และจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ศ.ธิคเก็ตต์ ชี้ว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะปลอดภัยกว่าบุหรี่จากใบยาสูบในแง่ของความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าติดต่อกัน 20-30 ปี เพราะการวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
"ผมไม่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายกว่าบุหรี่แบบธรรมดา แต่เราก็ไม่ควรเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันปลอดภัยมากอย่างที่คิดกัน" ศ.ธิคเก็ตต์ กล่าว
วิเคราะห์ : จากงานวิจัยทำให้ค้นพบว่าละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เซลล์ที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย เราจึงควรไม่ควรสูบบุหรี่ไฟฟ้า

เตือนโรงน้ำแข็ง“ก๊าซแอมโมเนียรั่ว”สงกรานต์

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติภัยสารเคมีในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 พบว่ามีเหตุรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 6 ครั้ง และอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อนและเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จึงทำให้มีความ ต้องการบริโภคน้ำแข็งมากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเร่งกำลังการผลิต ทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนักจึงเพิ่มความเสี่ยงในการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียจากความบกพร่องของอุปกรณ์ เช่น วาล์วรั่ว ท่อขนส่งแตกหรือประเก็นรั่ว เป็นต้น ซึ่งการรั่วไหลของก๊าซมีความเป็นพิษต่อระบบการหายใจอให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และหากมีน้ำเสียจากการดับเพลิงหรือการดักจับก๊าซแอมโมเนียถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะสามารถทำให้ปลาและสัตว์น้ำตายได้นางสุวรรณากล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น คพ.ได้จัดทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซแอมโมเนียเพื่อให้หน่วยงานต่างๆใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการกู้ภัยของหน่วยงานท้องถิ่นที่มา เว็บไซต์ thairathวิเคราะห์ : เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียขึ้นหลายครั้ง จึงทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ควรมีระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

โลกเสี่ยงภาวะเรือนกระจกแบบถาวร หากปล่อยให้ร้อนอีก 2 องศาเซลเซียส

ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติชี้ว่า โลกของเรามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดที่ไม่อาจแก้ไขให้คืนสภาพเดิมได้ในอีกไม่ กี่ร้อยปีข้างหน้า แม้ว่าชาติต่าง ๆ จะพยายามร่วมมือกันตัดลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้สำเร็จ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ก็ตาม
รายงานดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ PNAS ระบุว่า หากเรายังคงปล่อยให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก จนถึงจุดที่เหนือกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส เมื่อนั้นจะเกิดการรบกวนระบบดูดซับคาร์บอนในธรรมชาติ ให้กลับกลายเป็นตัวการปลดปล่อยคาร์บอน ปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแทน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดถาวร
ในแต่ละปี ผืนป่าสำคัญอย่างป่าแอมะซอน รวมทั้งมหาสมุทรต่าง ๆ และชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) ในแถบขั้วโลก ได้ดูดซับคาร์บอน จากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ถึง 4.5 พันล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของโลก แต่ก็น่าหวั่นเกรงว่าแผนการที่ระบุไว้ ในความตกลงปารีส ซึ่งนานาชาติจะช่วยกันรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศานั้น ไม่เพียงพอจะป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเรือนกระจก แบบถาวรนี้ได้
ศ. โยฮัน ร็อกสตอร์ม จากศูนย์ Stockholm Resilience Centre ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "เมื่ออุณหภูมิถึงจุดวิกฤตดังกล่าว ระบบป้องกันต่าง ๆ ของโลกที่เคยเป็นมิตรต่อเราจะกลับกลายเป็นศัตรูไปทันที"
"อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 4-5 องศาเซลเซียส และจะคงตัวอยู่ในระดับนั้นไปอีกนาน โดยถือเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 1.2 ล้านปีที่ผ่านมา" ศ. ร็อกสตอร์ม กล่าว
ผลการศึกษายังชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 10-60 เมตรจากในระดับปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศจะแปรปรวนจนทำให้ผู้คนไม่อาจอาศัยอยู่ในภูมิภาคบางแห่งของโลกได้
วิเคราะห์ : เนื่องจากผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติชี้ว่าโลกมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดที่ไม่อาจแก้ไขให้คืนสภาพเดิมได้ จึงทำให้ประชากรโลกควรหันมาใส่ใจการรณรงค์ลดโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

ดาวเคราะห์ร้อนที่สุดเท่าที่เคยพบมีบรรยากาศปนไอโลหะ

ดาวเคราะห์ KELT-9b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ในกลุ่มดาวหงส์ ได้รับการจัดให้เป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิร้อนแรงที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบมา โดยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 4,000 องศาเซลเซียส เทียบเท่ากับความร้อนของพื้นผิวดาวฤกษ์ จนมีไอระเหยของโลหะอย่างเหล็กและไทเทเนียมเป็นส่วนประกอบในชั้นบรรยากาศด้วย
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ซึ่งนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจนีวา (UNGE) และมหาวิทยาลัยเบิร์น (UNBE) ของสวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาองค์ประกอบของดาว KELT-9b ลงในวารสาร Nature หลังจากที่นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้เป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้เมื่อปีที่แล้ว
ศ. เควิน เหิง จากมหาวิทยาลัยเบิร์น หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความน่าพิศวงแตกต่างจากดาวทั่วไปที่พบในระบบสุริยะ เพราะถึงแม้มันจะจัดเป็นดาวเคราะห์ แต่ก็มีอุณหภูมิและบรรยากาศแบบเดียวกับดาวฤกษ์ เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนใจเราว่า ยังมีสิ่งแปลกประหลาดอีกมากมายให้เรามองหาที่นอกระบบสุริยะ"
ดาวเคราะห์ KELT-9b นั้นเป็นดาวก๊าซที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนและอาจมีแกนกลางเป็นหินแข็งอยู่เล็กน้อย ดาวเคราะห์นี้โคจรวนรอบดาวฤกษ์ KELT-9 ที่อยู่ห่างจากโลก 650 ปีแสง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่และร้อนแรงกว่าดวงอาทิตย์ราว 2 เท่า
ดาวเคราะห์นี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของตนมากกว่าระยะที่โลกห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 30 เท่า ทำให้ด้านที่หันเข้าหาดาวฤกษ์ KELT-9 นั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนกว่าพื้นผิวของดาวฤกษ์หลายดวง
ดาวเคราะห์ KELT-9b ใช้เวลาโคจรวนรอบดาวฤกษ์ครั้งละ 36 ชั่วโมง โดยจะหันหน้าด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ตลอดเวลา ทำให้ซีกหนึ่งของดาวจะเป็นเวลากลางวันอยู่เสมอ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่มืดมิดตลอดกาลก็อาจยังมีอุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
ทีมนักดาราศาสตร์ผู้ทำการศึกษา KELT-9b บอกว่า ใช้กล้องโทรทรรศน์กาลิเลโอบนหมู่เกาะคะแนรีของสเปนติดตามวิเคราะห์แสงของดาวฤกษ์ที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศของ KELT-9b ออกมา ทำให้ทราบถึงองค์ประกอบในบรรยากาศของดาวว่ามีไอระเหยของโลหะปะปนอยู่ด้วย เหมือนกับชั้นบรรยากาศของดาวฤกษ์ทั่วไป
วิเคราะห์ : เนื่องจากมีการใช้กล้องโทรทรรศน์คอยติดตามวิเคราะห์แสงของดาวฤกษ์ที่ลอดผ่านจากชั้นบรรยากาศของดาว KELT-9b จึงทำให้มีการค้นพบถึงถึงองค์ประกอบของดาวดวงนี้