Sunday, August 19, 2018

โลกเสี่ยงภาวะเรือนกระจกแบบถาวร หากปล่อยให้ร้อนอีก 2 องศาเซลเซียส

ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติชี้ว่า โลกของเรามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดที่ไม่อาจแก้ไขให้คืนสภาพเดิมได้ในอีกไม่ กี่ร้อยปีข้างหน้า แม้ว่าชาติต่าง ๆ จะพยายามร่วมมือกันตัดลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้สำเร็จ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ก็ตาม
รายงานดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ PNAS ระบุว่า หากเรายังคงปล่อยให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก จนถึงจุดที่เหนือกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส เมื่อนั้นจะเกิดการรบกวนระบบดูดซับคาร์บอนในธรรมชาติ ให้กลับกลายเป็นตัวการปลดปล่อยคาร์บอน ปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแทน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดถาวร
ในแต่ละปี ผืนป่าสำคัญอย่างป่าแอมะซอน รวมทั้งมหาสมุทรต่าง ๆ และชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) ในแถบขั้วโลก ได้ดูดซับคาร์บอน จากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ถึง 4.5 พันล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของโลก แต่ก็น่าหวั่นเกรงว่าแผนการที่ระบุไว้ ในความตกลงปารีส ซึ่งนานาชาติจะช่วยกันรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศานั้น ไม่เพียงพอจะป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเรือนกระจก แบบถาวรนี้ได้
ศ. โยฮัน ร็อกสตอร์ม จากศูนย์ Stockholm Resilience Centre ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "เมื่ออุณหภูมิถึงจุดวิกฤตดังกล่าว ระบบป้องกันต่าง ๆ ของโลกที่เคยเป็นมิตรต่อเราจะกลับกลายเป็นศัตรูไปทันที"
"อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 4-5 องศาเซลเซียส และจะคงตัวอยู่ในระดับนั้นไปอีกนาน โดยถือเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 1.2 ล้านปีที่ผ่านมา" ศ. ร็อกสตอร์ม กล่าว
ผลการศึกษายังชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 10-60 เมตรจากในระดับปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศจะแปรปรวนจนทำให้ผู้คนไม่อาจอาศัยอยู่ในภูมิภาคบางแห่งของโลกได้
วิเคราะห์ : เนื่องจากผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติชี้ว่าโลกมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเรือนกระจกชนิดที่ไม่อาจแก้ไขให้คืนสภาพเดิมได้ จึงทำให้ประชากรโลกควรหันมาใส่ใจการรณรงค์ลดโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

No comments:

Post a Comment